วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

มรดก

กองมรดก คืออะไร


กองมรดกคือทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน บ้าน เสื้อผ้า หรือแม้แต่ของใช้ส่วนตัว แม้แต่ทองที่ครอบฟันไว้ ก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของผู้ตาย ซึ่งเมื่อบุคคลใดตายแล้วย่อมอยู่ในความหมายของกองมรดกด้วย

การที่คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ได้รับทรัพย์สินส่วนของตนแยกมา มิได้หมายความว่าคู่สมรสดังกล่าวได้รับมรดก หากแต่เป็นการได้ทรัพย์สินของตนคืนมา ส่วนของผู้ตายนั้น คู่สมรสจึงจะไปรับมาในฐานะมรดกอีกต่อหนึ่ง เช่น เมื่อสามีตาย มีเงินอยู่ในบัญชีของสามี ๑๐๐ ล้านบาท ถ้าเงิน ๑๐๐ ล้านบาทนั้นได้มาในระหว่างที่อยู่กินด้วยกันโดยไม่ใช่เป็นสินส่วนตัวของสามี เมื่อสามีตาย เงิน ๑๐๐ ล้านจะถูกแบ่งระหว่างสามีและภริยาคนละ ๕๐ ล้าน ส่วนของสามี ๕๐ ล้านจะตกเป็นทรัพย์มรดก นำมาแบ่งกันในระหว่างผู้เป็นทายาท ซึ่งแม้ภริยาจะไม่ได้เป็นทายาท แต่ก็มีสิทธิได้รับมรดกเช่นเดียวกับทายาท เช่น ถ้าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ และมีลูก ๔ คน เงิน ๕๐ ล้านนั้นจะแบ่งระหว่างภริยาและลูก ๆ คนละ ๑๐ ล้าน ตกลงภริยาจะได้เงิน ๖๐ ล้าน (คือ ๕๐ ล้านในฐานะที่เป็นทรัพย์สินของตนที่แยกออกมา และอีก ๑๐ ล้านในฐานะที่เป็นมรดก) และลูก ๆ ได้คนละ ๑๐ ล้าน
 
ถ้าผู้ตายเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินของท่านที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ท่านจะทำพินัยกรรมยกให้ใครก็ได้ แต่ถ้าท่านไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินเหล่านั้นจะตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของท่าน โดยจะไม่ตกไปยังทายาทโดยธรรมทั้งปวง แต่ถ้าเป็นทรัพย์สินที่ท่านมีอยู่ก่อนอุปสมบทย่อมตกไปเป็นของทายาทได้เช่นเดียวกับคนธรรมดาทั่วไป
 
ใครบ้างมีสิทธิได้รับมรดก


คนที่จะมีสิทธิได้รับมรดกแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ “ทายาทโดยธรรม” อันได้แก่ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย ประเภทหนึ่ง และ “ผู้รับพินัยกรรม” ซึ่งได้แก่ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม อีกประเภทหนึ่ง

ถ้าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ใคร ผู้รับพินัยกรรมย่อมได้รับมรดกตามนั้น และถ้าทำพินัยกรรมยกมรดกให้ใครหมดแล้ว ทายาทโดยธรรมก็จะไม่ได้รับมรดกเลย กล่าวโดยสรุปก็คือ ทายาทโดยธรรมจะได้รับมรดกก็ต่อเมื่อไม่มีพินัยกรรมระบุไว้เป็นอย่างอื่น หรือถึงมีพินัยกรรมกำหนดไว้แล้วแต่ยังมีทรัพย์สินหลงเหลืออยู่ ทรัพย์สินที่หลงเหลืออยู่จึงจะตกไปถึงทายาทโดยธรรม

แต่ทายาทโดยธรรมอาจเป็นผู้รับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมด้วยก็ได้ เช่น พ่อทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ลูก ๆ จนหมด ในกรณีนั้นลูก ๆ จะได้รับมรดกในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรม ส่วนในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม ถ้าบังเอิญมีทรัพย์สินเหลืออยู่ ทรัพย์สินเหล่านั้นก็จะตกได้แก่ลูก ๆ ในฐานะทายาทโดยธรรมด้วย

วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

สินสอด

สินสอด
หมายถึง ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส (ม.1437)โดยสินสอดนั้นจะส่งมอบเมื่อใดก็ หากว่าเป็นทรัพย์สินที่ให้เพื่อ ขอขมาบิดามารดาของฝ่ายหญิงที่ตนล่วงเกินลูกสาวของเขา ทรัพย์สินนั้นไม่ใช่สินสอด แม้ต่อมาภายหลังไม่มีการสมรสชายจะเรียกคืนไม่ได้ เพราะสิ่งของที่ให้กันนั้นกฎหมายไม่ถือว่าเป็นสินสอด

ในกรณีดังต่อไปนี้ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้ มีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
1. ถ้าไม่มีการสมรสเกิดขึ้นโดยเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง เหตุที่ว่าทำให้ชายไม่สมควร หรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น หรือ
2. ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ

การผิดสัญญาหมั้น
ถ้าชาย หรือหญิงคู่หมั้นไม่ทำการสมรสกัน โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ ถือว่าคู่หมั้นนั้นผิดสัญญาหมั้นฝ่ายคู่หมั้นที่ผิดสัญญาต้องรับผิดจ่ายค่าทดแทน (ม.1439)คู่สัญญาหมั้น ไม่ใช่แค่ชายและหญิงคู่หมั้น

ค่าทดแทนในการผิดสัญญาหมั้นได้แก่ (ม.1440)
1. ค่าทดแทนความเสียหายต่อกายของอีกฝ่ายหนึ่ง
2. ค่าทดแทนความเสียหายต่อชื่อเสียงของอีกฝ่ายหนึ่ง
3. ค่าทดแทนความเสียหายในการที่ได้ใช้จ่าย หรือ ต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องจากการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
4. ค่าทดแทนความเสียหายในกรณีที่ได้จัดการทรัพย์สินด้วยความคาดหมายว่าจะได้สมรส
5. ค่าทดแทนความเสียหายในการที่ได้จัดการด้านต่างๆ เกี่ยวกับ อาชีพ หรือทางทำมาหาได้ ด้วยคาดหมายว่าจะได้สมรส

กรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้น แก่ฝ่ายชายด้วย
ค่าทดแทนในกรณีเสมือนผิดสัญญาหมั้น
ในกรณีบอกเลิกเพราะคู่หมั้นกระทำชั่วอย่างร้ายแรงซึ่งได้กระทำภายหลังจากการหมั้น
ค่าทดแทนในกรณีที่มีเหตุอื่นใดในทางประเวณีเกิดขึ้นกับหญิงคู่หมั้น (ม.1445)
1. ชายคู่หมั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นซึ่งร่วมประเวณีกับหญิงคู่หมั้นโดยรู้ หรือควรรู้ว่าหญิงนั้นได้หมั้นแล้วกับตน ชายคู่หมั้นจะเรียกค่าทดแทนได้ต่อเมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้น
2. ชายคู่หมั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นที่ได้ข่มขืน หรือพยายามข่มขืนกระทำชำเรากับหญิงคู่หมั้น หากชายอื่นได้รู้หรือควรรู้แล้ว่าหญิงนั้นได้หมั้นแล้ว โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาหมั้น

ความระงับสิ้นแห่งสัญญาหมั้น
1. ความตายของคู่หมั้น
2. การเลิกสัญญาหมั้นโดยสมัครใจ
ภายหลังการหมั้นคู่หมั้นอาจตกลงเลิกสัญญาหมั้นต่อกันได้โดยตกลงเลิกสัญญาหมั้นด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งเมื่อเลิกสัญญาต่อกันแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับสู่ฐานะเดิมเหมือนไม่เคยได้ทำการหมั้นต่อกัน โดยฝ่ายหญิงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่ฝ่ายชาย ทั้งนี้เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น
3. บอกเลิกสัญญาหมั้นโดยอ้างเหตุตามกฎหมาย

1. เหตุสำคัญอันเกิดแก่คู่หมั้น (ไม่ถือว่าผิดสัญญาหมั้น)
เหตุสำคัญต้องถึงขนาดที่ชายหรือหญิงไม่สมควรสมรสกับอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่คำนึงว่าจะเกิดจากการกระทำของฝ่ายใด ไม่คำนึงว่าเหตุสำคัญจะเกิดก่อนหรือหลังการหมั้น
2. เหตุอันเกิดเพราะคู่หมั้นกระทำชั่วอย่างร้ายแรงซึ่งได้กระทำภายหลังจากการหมั้น โดยกฎหมายถือเสมือนว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้น
3. กรณีเหตุอื่นใดในทางประเวณีกับหญิงคู่หมั้น

การเรียกค่าทดแทน ของหมั้นและสินสอดและอายุความ

กรณีคู่หมั้นตาย
ถ้าคู่หมั้นฝ่ายใดตายก่อนสมรสไม่ว่ากรณีใด ะไม่ถือว่าผิดสัญญาหมั้นดังนั้นคู่หมั้นอีกฝ่ายไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทน นอกจากนี้หากบุคคลที่ตายนั้นเป็นหญิงคู่หมั้น คู่สัญญาหมั้นฝ่ายชายไม่มีสิทธิเรียกของหมั้น และสินสอดคืน
กรณีผิดสัญญา หรือเสมือนว่าผิดสัญญาหมั้น
การเรียกค่าทดแทนอันเนื่องมาการผิดสัญญาหมั้น หรือเสมือนว่าผิดสัญญาหมั้นมีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันผิดสัญญา

อายุความในการที่การเรียกร้องของหมั้นคืนมีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันผิดสัญญา ส่วนการเรียกคืนสินสอดมีอายุความ 10 ปี นับวันผิดสัญญา

กรณีบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยสมัครใจ
ในกรณีที่สัญญาหมั้นได้เลิกลงโดยความสมัครใจของคู่หมั้น แต่ละฝ่ายจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้ โดยหญิงคู่หมั้นต้องคืนของหมั้น และสินสอด ยกเว้นแต่จะได้มีการตกลงเป็นอย่างอื่น(สงวนสิทธิในการเรียกค่าทดแทน และไม่คืนของหมั้นและสินสอด) โดยอายุความในการเรียกคืนของหมั้นและสินสอดมีอายุความ 10 ปี

กรณีบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยกฎหมาย
ในกรณีที่สัญญาหมั้นระงับโดยการบอกเลิกสัญญาหมั้นอายุความในการเรียกค่าทดแทนมีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันรู้เหตุแห่งการบอกเลิก แต่อย่างไรแล้วต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันเกิดเหตุ

ในกรณีที่การบอกเลิกสัญญาหมั้นเกิดจากเหตุสำคัญอันเกิดจากหญิงคู่หมั้น อายุความในการเรียกคืนของหมั้นมีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันเลิกสัญญา และ การเรียกคืนสินสอดมีอายุความ 10 ปี นับวันเลิกสัญญา

ยืมใช้คงรูป

ยืมใช้คงรูป

        สัญญายืมใช้คงรูปนั้นลักษณะของการใช้ทรัพย์มิได้สิ้นเปลืองหมดไป หรือเสียภาวะเสื่อมสลายไป สัญญายืมใช้คงรูปจึงไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ให้แก่ผู้ยืม และผู้ยืมต้องคืนทรัพย์อันเดียวกับที่ยืมไปนั้นให้แก่ผู้ให้ยืมเมื่อได้ใช้สอยทรัพย์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว
1. สัญญายืมใช้คงรูปมีลักษณะเฉพาะอันเป็นสาระสำคัญนอกเหนือไปจากลักษณะทั่วไป ของสัญญายืม เป็นสัญญาไม่มีค่าตอบแทน และไม่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืม วัตถุแห่งสัญญายืมใช้คงรูปเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งซึ่งไม่อาจใช้ของอื่นแทนได้

2. ผู้ยืมใช้คงรูปมีสิทธิใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมตามสัญญา และมีสิทธิต่อบุคคลภายนอกในฐานะเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สิน แต่ก็มีหน้าที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายใช้ทรัพย์สินโดยชอบ ต้องสงวนรักษาทรัพย์สินเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง และต้องส่งคืนทรัพย์สินอันเดียวกันที่ยืมไปเมื่อถึงกำหนดเวลาต้องส่งคืน

3. ผู้ให้ยืมใช้คงรูปมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกทรัพย์สินคืนจากผู้ยืม เมื่อครบกำหนดเวลายืมหรือ เมื่อผู้ยืมปฏิบัติผิดหน้าที่ในการใช้หรือสงวนรักษาทรัพย์สิน และมีสิทธิเรียกค่าตอบแทนในความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สินเนื่องจากความผิดของผู้ยืม แต่ก็มีหน้าที่ไม่ขัดขวางการใช้ทรัพย์สินของผู้ยืมตามสัญญาและรับผลแห่งภัยพิบัติในทรัพย์สินนั้นเองหากเกิดความเสียหายขึ้นโดยมิใช่ความผิดของผู้ยืม

ตัวอย่าง
          ดำให้แดงยืมรถไปทำธุระเป็นเวลา 10 วัน เมื่อครบกำหนด 10 วันแล้ว แดงเกิดมีธุระจะต้องไปทำต่ออีก 5 วัน จึงขับรถต่อไปทำธุระที่นครศรีธรรมราช หลังจากนั้นจึงขับรถกลับกรุงเทพฯ ระหว่างนั้นมีฝนตกพายุพัดอย่างหนัก แดงไม่สามารถจะขับรถหนีไปได้ จึงต้องจอดรถรออยู่ข้างทางจนกระทั่งพายุสงบเป็นเหตุให้รถยนต์ของดำต้องแช่น้ำอยู่หลายชั่วโมง ทำให้เครื่องยนต์เสียหายต้องซ่อมแซมเป็นเงิน 3,000 บาท ดำจะเรียกค่าซ่อมแซมจากแดงได้หรือไม่


           ตามอุทธาหรณ์เป็นการยืมใช้คงรูป แดงต้องคืนทรัพย์ คือรถยนต์นั้นเมื่อครบกำหนด 10วัน การที่แดงเอารถไปใช้ที่นครศรีธรรมราชอีก 7วัน เป็นการเอาทรัพย์ที่ยืมไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 643 เมื่อรถเกิดเสียหายในระหว่างที่แดงใช้รถโดยมิชอบ แม้จะเป็นด้วยเหตุสุดวิสัย แดงก็ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าซ่อมแซมรถดังกล่าวให้แก่ดำ