วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552

จ้างแรงงาน VS จ้างทำของ

จ้างแรงงาน VS จ้างทำของ

จ้างแรงงาน คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งที่เรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งที่เรียกว่า นายจ้าง และ นายจ้างตกลงจะให้สินจ้างแก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ แต่มิได้มุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นหลัก แต่อยู่ภายใต้ข้อตกหรือการบังคับบัญชาของนายจ้าง และลูกจ้างต้องทำงานตลอดไปจนกว่าจะเลิกจ้าง เช่น การจ้างครูมาสอนหนังสือ บริษัทต่างๆจ้างพนักงานมาทำงาน ฯ
* สัญญาจ้างแรงงานอาจเป็นความตกลงในการทำงานที่ต้องใช้สติปัญญา นอกจากแรงงานก็ได้ สินจ้างในสัญญาจ้างแรงงานอาจเป็นทรัพย์สินอื่นใด โดยไม่จำกัดเพียงแค่ ในรูปเงินตราเท่านั้น และ “ลูกจ้าง” ในที่นี้ไม่ได้หมายความรวมถึง ข้าราชการ และ ลูกจ้างของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ

จ้างทำของ คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ว่าจ้าง ซึ่งผู้รับจ้างสามารถใช้แรงงานหรือทรัพยากรอื่นใดก็ได้ โดยมุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นหลัก เช่น นาย ก. ว่าจ้างให้ นาย ข. ต่อเติมบ้านให้ นาย ข. จะได้รับค่าตอบแทนก็ต่อเมื่อต่อเติมบ้านให้ นาย ก. เสร็จเรียบร้อย ตามที่ตกลงกันไว้


ข้อแตกต่าง"สัญญาจ้างทำของ" กับ "สัญญาจ้างแรงงาน"
สัญาจ้างทำของ
1 คู่สัญญาเรียกว่า ผู้ว่าจ้าง กับ ผู้รับจ้าง
2 ผู้รับจ้างตกลงรับจะทำการงานให้จนงานนั้นสำเร็จ
3 ถือความสำเร็จของการงานเป็นสำคัญ

4 ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายเงินสินจ้างตามความสำเร็จของการงานที่ตกลงกัน
5 ผู้รับจ้างไม่ต้องทำงานตามคำสั่ง เพียงแต่ทำงานให้เสร็จเรียบร้อยตามสัญญาเท่านั้น
6 ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดการหาเครื่องมือสำหรับใช้ทำงานและบางครั้งอาจต้องหาสัมภาระด้วย
7 ผู้รับจ้างต้องส่งมอบการงานที่ทำให้ทันเวลาต่อผู้ว่าจ้าง
8 นิติบุคคลเป็นผู้ว่าจ้างได้และเป็นผู้รับจ้างได้

สัญญาจ้างแรงงาน
1 คู่สัญญาเรียกว่า นายจ้าง กับ ลูกจ้าง
2 ลูกจ้างตกลงจะทำงานให้ตลอดไปจนกว่าจะเลิกจ้าง
3 ถือระยะเวลาที่ทำงานให้เป็นสำคัญ
4 นายจ้างต้องจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างให้ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้
5 ลูกจ้างต้องทำงานตามคำสั่งของนายจ้างมีการควบคุมบังคับบัญชากันได้
6 ลูกจ้างไม่ต้องจัดหาเครื่องมือ หรือสัมภาระในการทำงานเว้นแต่มีข้อตกลงพิเศษ
7 ลูกจ้างไม่ต้องส่งมอบงานที่ทำให้นายจ้างเพราะอยู่ในความควบคุมดูแลของนายจ้างอยู่แล้ว
8 นิติบุคคลเป็นนายจ้างได้ แต่เป็นลูกจ้างไม่ได้

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กฎหมายเกี่ยวกับการตาย

กฎหมายเกี่ยวกับการตาย
        ความตาย เป็นสิ่งที่เราหนีไม่พ้นจากมันไม่ว่าจะยังไงเหมือนที่พุทธเจ้าได้กล่าวไว้ว่า " สังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง " เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์โลก
        จากละครเรื่อง Happy Birth Day เรื่องราวความรักของชายหนุ่ม เต็น และหญิงสาว เภา หลังจากที่ เภา ได้ประสบอุบัติเหตุโดยรถชน เธอได้รับการช่วยชีวิตจากแพทย์จนรอดชีวิต แต่เธอต้องกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราเธอไม่สามารถรับรู้ สื่อสารและช่วยเหลือตัวเองได้ (สภาวะสมองตาย ) หลังจากที่เธอต้องตกอยู่ในสภาพดังกล่าว พ่อแม่ของเธอของเธอจึงยื่นขอต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้ดึงท่อออกซิเจน หรือเครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้เธอจากไปตามธรรมชาติ



        คำจำกัดความของ การตาย ในข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม โดยมีการรวมถึงสภาวะสมองตาย คือ การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไป การกำหนดดังกล่าวทำให้มีความชัดเจนมากขึ้นทางกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่าแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยการตาย ที่ผ่านมายังไม่มีกำหนดคำจำกัดความดังกล่าว มีเพียงประกาศแพทยสภาเรื่องเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายตั้งแต่ ปี  2532 ซึ่งเป็นเพียงหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ ยังคงมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายได้ เมื่อได้กำหนดไว้ในข้อบังคับแพทยสภาดังกล่าวจึงสร้างความชัดเจนขึ้นทางกฎหมายว่า ผู้ได้รับการวินิจฉัยสมองตาย คือ ผู้ตาย เหตุที่ต้องมีกำหนดเช่นนี้เนื่องจากโดยทั่วไปจะเข้าใจว่าการตายนั้นถือว่าต้องไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น แต่ข้อเท็จจริงทางการแพทย์พบว่าผู้ป่วยที่สมองตาย คือ ภาวะที่ไม่รู้สึกตัวและไม่หายใจ ซึ่งมีเหตุจากสมองถูกทำลายโดยไม่สามารถแก้ไขได้นั้น แม้จะสามารถช่วยการหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจได้ ทำให้ร่างกายยังคงได้รับออกซิเจนและหัวใจยังทำงานได้โดยยากระตุ้นการทำงานของหัวใจ แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถหยุดยั้งการหยุดทำงานของหัวใจได้ เนื่องจากสมอง คือ ศูนย์รวมของการควบคุมการทำงานของทุกอวัยวะในร่างกาย เมื่อสมองตายอวัยวะต่างๆ จะเสื่อมการทำงานของในเวลาไม่นาน หากยังคงให้การรักษาต่อไปมีแต่ความสิ้นเปลืองโดยไร้ประโยชน์




        พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่มีการประกาศบังคับใช้ไปตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาแล้ว มีประเด็นหนึ่งในมาตรา 12 ที่น่าสนใจ ซึ่งกล่าวไว้ว่า
      "บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้
การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง"
จะเห็นได้ว่ามาตรานี้ ทำให้เกิดสิทธิขึ้น 2 อย่างด้วยกัน คือ
1. สิทธิการตาย - เป็นเจตจำนงของผู้ป่วยเองโดยตรงที่จะตาย (อย่างมีศักดิ์ศรี?)
2. สิทธิที่จะฆ่า - ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขเช่น แพทย์หรือพยาบาล สามารถละเว้นการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโดยไม่ผิดกฎหมาย

         ดังนั้นผลดีที่เกิดกับผู้ป่วยและแพทย์จากการใช้มาตรานี้คือ ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลว่าจะตกอยู่ในสภาพตายทั้งเป็น สำหรับแพทย์นั้นก็ไม่ต้องกังวลในการกระทำดังกล่าวว่าจะผิดกฎหมายแต่อย่างใด
การตายโดยเกณฑ์สมองตายนี้ ทั่วโลกยอมรับและหลายประเทศกำหนดเป็นกฎหมายอย่างชัดเจนแล้ว

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=29498

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สิทธิของผู้หญิงมาถึงแล้ว “จากนางกลายเป็นนางสาว”

สิทธิของผู้หญิงมาถึงแล้ว “จากนางกลายเป็นนางสาว”

เป็นที่รู้กันดีว่าหญิงไทยอายุครบ 15 ปีเมื่อไร ไม่เพียงไปทำบัตรประชาชนได้เท่านั้น กฎหมายยังอัพเกรดให้กลายเป็นสาวด้วย โดยให้เปลี่ยนคำนำหน้าที่เคยเป็นเด็กหญิงว่า “นางสาว”
หลังจากนั้นอาจต้องมีการเปลี่ยนอีกทีเมื่อมีสามีตามกฎหมาย โดยจะถูกเรียกขานนำหน้าชื่อเสียใหม่ให้ว่า “นาง” และยังคงเรียกเช่นนี้ตลอดไปจนขาดใจตายนั่นเลย
ดิฉันอาจถูกมองว่าเป็นพวกหัวโบราณ หรือค่อนไปทางอนุรักษ์นิยมสำหรับคนรุ่นใหม่ก็ว่ากันไป เพราะดิฉันยังเชื่ออยู่เต็มหัวใจว่า การใช้ชีวิตคู่มีองค์ประกอบสำคัญมากมายอยู่รายรอบตัว
และหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ ก็คือ การให้เกียรติหัวใจซึ่งกันและกัน
มิใช่เป็นการให้เกียรติ หรือเรียกร้องว่าทำไมแต่งงานแล้วต้องเปลี่ยนคำนำหน้าหรือใช้นามสกุลของใครหรือไม่ แต่เป็นการยินยอมพร้อมใจที่จะขอร่วมคู่ชีวิตเป็นหนึ่งเดียว โดยไม่ได้ยึดติดเรื่องของสัญลักษณ์..!!
ที่ผ่านมา การเปลี่ยนคำนำหน้า หรือเปลี่ยนนามสกุล มาใช้ของสามี เป็นการบอกเล่าประกาศให้เพื่อนพ้องญาติพี่น้องรับรู้ว่าคู่ของเราตัดสินใจใช้ชีวิตเป็นคู่สามีภรรยา และพร้อมจะเป็นหนึ่งเดียวของกันและกัน
และหากวันหนึ่งวันใดที่เกิดเหตุไม่สามารถประคองชีวิตสมรสให้ตลอดรอดฝั่ง หรือมีเหตุต้องแยกทางกัน ฝ่ายหญิงก็อยากที่จะกลับไปใช้นามสกุลเดิมและคำนำหน้าชื่อเหมือนเดิม เพื่อแจ้งให้เพื่อนพ้องญาติพี่น้องรับรู้ว่าตนเองได้แยกทางกับสามีแล้วเช่นกัน
แต่ตอนนี้คุณผู้หญิงทั้งหลายมีโอกาสและทางเลือกขึ้นมาใหม่ให้ชีวิตของตนเอง เพราะกฎหมายออกมาว่า หลังจากเป็น “นาง” ก็สามารถเปลี่ยนใจมาเป็น “นางสาว” กับเขาได้ใหม่
จากการดูข่าวโทรทัศน์ และอ่านหนังสือพิมพ์ จึงได้ทราบว่าผู้หญิงจำนวนมาก ที่เดินทางไปอำเภอ เพื่อไปเปลี่ยน คำนำหน้านาม ของตนเอง จาก “นาง” เป็น “นางสาว” เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงในด้านต่างๆ และให้อิสระและเสรีภาพในการกำหนด คำหน้านามได้ อย่างสมัครใจ จึงขอแสดงความยินดีกับผู้หญิงที่ ต้องการอิสระ เสรีภาพ นี่เป็นโอกาสของคุณแล้วค่ะ

พระราชบัญญัติ คำนำหน้านามหญิง พ.ศ. ๒๕๕๑
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 125 ตอนที่ 28 ก. ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ได้ตีพิมพ์ พระราชบัญญัติ คำนำหน้านามหญิง พ.ศ.2551 โดย
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ. ๒๕๕๑”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อย ยี่สิบวันนับแต่วันประกาศ
ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ พระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบการใช้คำนำหน้านามหญิงเป็น อย่างอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๔ หญิงซึ่งมีอายุ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้ใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว”
มาตรา ๕ หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว จะใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว”ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว
มาตรา ๖ หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว หากต่อมาการสมรสได้สิ้นสุดลงจะใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว
มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามพระราชบัญญัติ
ที่มา : http://www.naewna.com/news.asp?ID=94174

แต่อย่างไรก็ตามการที่ผู้หญิงจะเลือกใช้คำนำหน้า นาง หรือ นางสาว ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่หรืออุปสรรคในการใช้ชีวิตคู่ของคนทั้งสอง แต่อยู่ที่ความเข้าใจซึ่งกันและกัน การให้เกียรติ เชื่อมั่น และเชื่อใจในคนที่รักนี่แหละสิ่งสำคัญของการใช้ชีวิตคู่ค่ะ