วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สิทธิของผู้หญิงมาถึงแล้ว “จากนางกลายเป็นนางสาว”

สิทธิของผู้หญิงมาถึงแล้ว “จากนางกลายเป็นนางสาว”

เป็นที่รู้กันดีว่าหญิงไทยอายุครบ 15 ปีเมื่อไร ไม่เพียงไปทำบัตรประชาชนได้เท่านั้น กฎหมายยังอัพเกรดให้กลายเป็นสาวด้วย โดยให้เปลี่ยนคำนำหน้าที่เคยเป็นเด็กหญิงว่า “นางสาว”
หลังจากนั้นอาจต้องมีการเปลี่ยนอีกทีเมื่อมีสามีตามกฎหมาย โดยจะถูกเรียกขานนำหน้าชื่อเสียใหม่ให้ว่า “นาง” และยังคงเรียกเช่นนี้ตลอดไปจนขาดใจตายนั่นเลย
ดิฉันอาจถูกมองว่าเป็นพวกหัวโบราณ หรือค่อนไปทางอนุรักษ์นิยมสำหรับคนรุ่นใหม่ก็ว่ากันไป เพราะดิฉันยังเชื่ออยู่เต็มหัวใจว่า การใช้ชีวิตคู่มีองค์ประกอบสำคัญมากมายอยู่รายรอบตัว
และหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ ก็คือ การให้เกียรติหัวใจซึ่งกันและกัน
มิใช่เป็นการให้เกียรติ หรือเรียกร้องว่าทำไมแต่งงานแล้วต้องเปลี่ยนคำนำหน้าหรือใช้นามสกุลของใครหรือไม่ แต่เป็นการยินยอมพร้อมใจที่จะขอร่วมคู่ชีวิตเป็นหนึ่งเดียว โดยไม่ได้ยึดติดเรื่องของสัญลักษณ์..!!
ที่ผ่านมา การเปลี่ยนคำนำหน้า หรือเปลี่ยนนามสกุล มาใช้ของสามี เป็นการบอกเล่าประกาศให้เพื่อนพ้องญาติพี่น้องรับรู้ว่าคู่ของเราตัดสินใจใช้ชีวิตเป็นคู่สามีภรรยา และพร้อมจะเป็นหนึ่งเดียวของกันและกัน
และหากวันหนึ่งวันใดที่เกิดเหตุไม่สามารถประคองชีวิตสมรสให้ตลอดรอดฝั่ง หรือมีเหตุต้องแยกทางกัน ฝ่ายหญิงก็อยากที่จะกลับไปใช้นามสกุลเดิมและคำนำหน้าชื่อเหมือนเดิม เพื่อแจ้งให้เพื่อนพ้องญาติพี่น้องรับรู้ว่าตนเองได้แยกทางกับสามีแล้วเช่นกัน
แต่ตอนนี้คุณผู้หญิงทั้งหลายมีโอกาสและทางเลือกขึ้นมาใหม่ให้ชีวิตของตนเอง เพราะกฎหมายออกมาว่า หลังจากเป็น “นาง” ก็สามารถเปลี่ยนใจมาเป็น “นางสาว” กับเขาได้ใหม่
จากการดูข่าวโทรทัศน์ และอ่านหนังสือพิมพ์ จึงได้ทราบว่าผู้หญิงจำนวนมาก ที่เดินทางไปอำเภอ เพื่อไปเปลี่ยน คำนำหน้านาม ของตนเอง จาก “นาง” เป็น “นางสาว” เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงในด้านต่างๆ และให้อิสระและเสรีภาพในการกำหนด คำหน้านามได้ อย่างสมัครใจ จึงขอแสดงความยินดีกับผู้หญิงที่ ต้องการอิสระ เสรีภาพ นี่เป็นโอกาสของคุณแล้วค่ะ

พระราชบัญญัติ คำนำหน้านามหญิง พ.ศ. ๒๕๕๑
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 125 ตอนที่ 28 ก. ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ได้ตีพิมพ์ พระราชบัญญัติ คำนำหน้านามหญิง พ.ศ.2551 โดย
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ. ๒๕๕๑”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อย ยี่สิบวันนับแต่วันประกาศ
ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ พระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบการใช้คำนำหน้านามหญิงเป็น อย่างอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๔ หญิงซึ่งมีอายุ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้ใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว”
มาตรา ๕ หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว จะใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว”ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว
มาตรา ๖ หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว หากต่อมาการสมรสได้สิ้นสุดลงจะใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว
มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามพระราชบัญญัติ
ที่มา : http://www.naewna.com/news.asp?ID=94174

แต่อย่างไรก็ตามการที่ผู้หญิงจะเลือกใช้คำนำหน้า นาง หรือ นางสาว ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่หรืออุปสรรคในการใช้ชีวิตคู่ของคนทั้งสอง แต่อยู่ที่ความเข้าใจซึ่งกันและกัน การให้เกียรติ เชื่อมั่น และเชื่อใจในคนที่รักนี่แหละสิ่งสำคัญของการใช้ชีวิตคู่ค่ะ

1 ความคิดเห็น:

  1. ความคิดเฉียบคมค่ะ ได้ประเด็นและมุมมอง เชงวิเคราะห์ดีจัง

    ตอบลบ